พญาเม็งราย
เมื่อพญาเม็งรายตีได้แคว้นหริภุญไชยสำเร็จ จึงได้รวมเข้ากับแคว้นโยนกตั้งเป็น "อาณาจักรล้านนา" พร้อมกันนั้นพญาเม็งราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง จึงได้ร่วมกันสถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" เมื่อปี พ.ศ. 1839 เป็นศูนย์กลาง อาณาจักรล้านนาตอนล่าง ที่นับเป็นศูนย์รวมของการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอาณาจักร มีผู้ครองนครราชวงศ์เม็งรายต่อมาอีก 18 องค์
บริเวณเมืองเชียงใหม่ อยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และบริเวณที่ราบฝั่งขวาของเม่น้ำปิง (พิงคนที)
|
ด้านตะวันตกขยายไปจนถึงรัฐฉาน เช่น เมืองไลคา สีป้อ ยองห้วย ด้านเหนือยึดได้เมืองเชียงรุ้งและเมืองยอง นอกจากนั้นยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง 25 ปี แต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน
ด้านศาสนา
พญาเม็งราย ทรงรับอิทธิพลศาสนาพุทธจากแคว้นหริภุญไชยซึ่งเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาตั้งแต่เดิม จนสมัยของพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 ที่ได้ทรงรับเอาลัทธิลังกาวงศ์ จากอาณาจักรสุโขทัยมาเผยแพร่ ได้โปรดให้สร้างวัดวาอารามและเจดีย์มากมาย เช่น สร้างวัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม รวมทั้งวัดพระธาตุดอยสุเทพและเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย แล้วอัญเชิญไปไว้ที่วัดสวนดอก และวัดพระธาตุดอยสุเทพ
ทรงสร้างวัดขึ้นอีกหลายวัด เช่น วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) วัดป่าแดงมหาวิหาร เป็นต้น ทรงสร้างต่อเติมเจดีย์หลวงให้สูงขึ้น ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดพระธาตุลำปางหลวงมาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์หลวง
ล่วงมาในสมัยพญาแก้ว หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 ภิกษุชาวเชียงใหม่ ได้สร้างผลงานวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญไว้มากมาย เช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เวสสันดร ทีปนี มูลศาสนา และปัญญาสชาดก เป็นต้น
การล่มสลาย
การล่มสลาย
จนถึงสมัยมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15 กองทัพไทใหญ่ที่ได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ยกมาปล้นเมือง และเมื่อกองทัพอยุธยา ก็ได้ยกมาล้อมเชียงใหม่ หัวเมืองต่าง ๆ ก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งเมื่อพม่ายกทัพมาล้อมเชียงใหม่ ในสมัยท้าวแม่กุเพียง 3 วัน เชียงใหม่จึงเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2101 และนับจากนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรล้านนาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี
การเป็นอิสระจากพม่า
การเป็นอิสระจากพม่า
ระหว่างที่พม่าได้ปกครองล้านนามาเป็นเวลายาวนานนั้น คราวใดที่พม่ามีกษัตริย์ที่อ่อนแอ ผู้นำชาวล้านนาก็จะลุกขึ้นต่อต้าน ที่จะแยกเป็นอิสระ
ในปี พ.ศ. 2101-2207 พม่ายอมให้ล้านนาปกครองตนเอง แต่ต้องส่งบรรณาการแก่พม่าในฐานะเป็นเมืองขึ้น
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2207 พม่าได้รวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า พร้อมทั้งส่งขุนนางพม่ามาปกครอง ทั้งได้แยกเชียงแสนออกจากเชียงใหม่ และตั้งเป็นฐานที่มั่นของพม่า เพื่อทอนอำนาจของเชียงใหม่ที่พยายามจะแยกตัวเป็นอิสระ
ในปี พ.ศ. 2270 เชียงใหม่ได้แยกตัวเป็นอิสระจากพม่าได้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถูกพม่ายึดกลับคืนได้อีกในปี พ.ศ. 2306 เชียงใหม่จึงถูกพม่าปกครองอย่างเข้มงวดและกดขี่ขูดรีด ทำให้ขุนนางล้านนาไม่อาจทนได้ในที่สุด พระยาจ่าบ้าน ขุนนางเมือง เชียงใหม่ กับพระยากาวิละเจ้านครลำปาง พากันมาเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน และร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากขับไล่พม่าจากเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ. 2317 และอีก 30 ปี ต่อมาจึงสามารถขับไล่พม่าจากเชียงแสนได้
ประเพณีล้านนา
นับจากอดีต ชีวิตของชาวล้านนาผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้จากการดำเนินชีวิต และสถาบันทางศาสนาในชุมชน รวมทั้งระบบหัววัด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของวัดต่าง ๆ ไม่ว่าใกล้หรือไกลกัน และคนในชุมชนหนึ่งชักชวนคนอีกชุมชนหนึ่งมาทำบุญที่วัดของตน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กัน
ขณะที่พุทธศาสนามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตของคนเมืองอย่างลึกซึ้ง แต่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีปู่ย่าและผีเสื้อเมือง ผีเจ้าเมืองก็มีปะปนอยู่ จนแยกกันไม่ออก ชาวล้านนาสามารถนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานกันได้ อย่างกลมกลืน ในงานพิธีและประเพณีต่าง ๆ ซึ่งจะพบได้ในปัจจุบัน
ประเพณีและงานพิธีที่สำคัญในรอบปีของชาวเชียงใหม่มีอยู่มากมาย อาทิ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าอินทขีล ประเพณี ลอยโคมลอยโขมด ประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง และพิธีเลี้ยงผีปู่และย่า เป็นต้น
|
วันที่ 14 เม.ย. เป็นวันที่เรียกกันว่า "วันเนา" หรือ "วันเน่า" วันนี้ชาวเชียงใหม่จะทำแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล พร้อมทั้งตระเตรียมอาหาร คาวหวาน เครื่องไทยทาน เพื่อทำงานบุญในวันสงกรานต์ และไปขนทรายเข้าวัด
วันที่ 15 เรียกว่า "วันพญาวัน" ถือเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ชาวเชียงใหม่จะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และถวายอาหารพระที่เรียกว่า "ทานขันข้าว" เพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และสรงน้ำพระ หลังจากนั้นจึงนำขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้น ส้มป่อย หมากพลู เมี่ยง หรืออาจมีเครื่องนุ่งห่ม ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
ส่วนวันที่ 16-18 เม.ย. เรียกว่า "วันปากปี ปากเดือน ปากวัน" จะเป็นวันประกอบพิธีกรรมสักการะต่อวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป
เดิมประเพณีนี้ เจ้าผู้ครองนครจะจัดขึ้นเพื่อสังเวยเทพยดาอารักษ์ บูชากุมภัณฑ์ และมีพิธีเข้าทรงผีเจ้านาย เพื่อสอบถามว่า ฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์ และชะตาบ้านเมืองจะดีหรือไม่ หากชะตาของบ้านเมืองไม่ดี ก็จะจัดพิธีสืบชะตาเมืองเพิ่มขึ้นด้วย และปัจจุบันได้เพิ่มการทำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง โดยการแห่พระพุทธรูปคันธารราษฎร์ (พระเจ้าฝนแสนห่า) รอบเมือง และจะนำมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ชาวเมืองสรงน้ำ จากนั้นพระสงฆ์ 9 รูป จะเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขีล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดิน การประกอบพิธีนี้ เพื่อมุ่งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของชาวเมืองก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก
วัดพระธาตุจอมทองวรวิหาร เป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่สำคัญ ตั้งอยู่บนเนินสูงราว 10 เมตร ที่เรียกว่า "ดอยจอมทอง" และมีเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ (ส่วนที่เป็นพระเศียรด้านขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
พระบรมสารีริกธาตุจอมทองนั้น ประดิษฐานอยู่ในพระโกศ 5 ชั้น มีจำนวน 1 องค์ ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว มีสีขาวนวลและ ออกน้ำตาลคล้ายสีดอกพิกุลแห้ง บรรจุไว้ในเจดีย์ ซึ่งจะมีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำ 2 ครั้ง ในทุกปี คือวันที่พระบรมสารีริกธาตุเข้าพรรษาและออกพรรษา
|
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของแต่ละปี จะเป็นวันที่พระบรมสารีริกธาตุเข้าพรรษา พระภิกษุจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกจากพระโกศ 5 ชั้น มาประดิษฐานในพระโกศแก้วใส แล้วแห่ไปทำพิธีที่โบสถ์ ในระหว่างทางชาวบ้านจะโยนข้าวตอกดอกไม้ไปยังพระโกศ เพื่อถวายเป็นสักการะ เมื่อทำพิธีเสร็จก็จะแห่จากโบสถ์ไปยังหอสรงข้างวิหาร หอสรงนี้จะมีรางน้ำเป็นรูปตัวนาคสำหรับใช้สรงน้ำ และเดิมจะใช้น้ำแม่กลาง ผสมด้วยดอกคำฝอย เป็นน้ำสำหรับสรง แต่ปัจจุบันใช้น้ำสะอาดธรรมดา เสร็จแล้วจึงอัญเชิญเข้าจำพรรษาในพระโกศ 5 ชั้น ตามเดิม และกลางคืนพระภิกษุจะสวดเจริญพระพุทธมนต์ เป็นอันเสร็จพิธี
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของแต่ละปี จะเป็นวันที่พระบรมสารีริกธาตุออกพรรษา จะมีประเพณีพิธีการเช่นเดียวกับวันที่พระบรมสาริกธาตุเข้าพรรษา แต่จะเป็นพิธีเล็กกว่า ชาวบ้านไม่ค่อยมาร่วมสรงน้ำมากนัก
เป็นประเพณีการทำบุญและสนุกสนานร่าเริง หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับงานในท้องไร่ ท้องนา ของชาวล้านนา โดยจะจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันยี่เป็ง" โดยการลอยโคมในเวลากลางวันและกลางคืน และลอยโขมดหรือลอยกระทงเวลากลางคืน
วันขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ตามวัดวาอารามและบ้านเรือน จะประดับตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย โคมไฟ และดอกไม้นานาชนิด โดยสร้างขึ้นเป็นประตูป่า เพื่อเตรียมในการตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) ในวันขึ้น 15 ค่ำ
|
1. ปล่อยโคมลอยในตอนกลางวัน เรียกว่า ว่าว โดยทำโคมด้วยกระดาษสี แล้วให้ลอยสู่ท้องฟ้าด้วยความร้อนคล้ายบอลลูน เพื่อปล่อยทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ไป
2. ปล่อยโคมลอยในเวลากลางคืน เรียกว่า โคมไฟ โดยใช้ไม้พันด้ายเป็นก้อนกลม ชุบน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้แขวนปากโคม แล้วจุดไฟปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์
ประเพณีการทำบุญสลากภัตต์
การทำบุญนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า "กิ๋นสะลากฮากไม้" ปัจจุบันเรียก "ทานสลาก" หรือ "ทำบุญสลาก" ทำขึ้นที่วัดเชียงมั่น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ วัดเจดีย์หลวง ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 เหนือ และวัดพระสิงห์ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ
สมัยก่อนไม่มีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารเช่นปัจจุบัน คือ เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรจับสลากมากน้อยเพียงใด ก็ขบฉันเฉพาะอาหาร เท่าที่บอกในสลากเท่านั้น
การจับสลากภัตต์มี 2 วิธี คือ จับเส้นและจับเบอร์ การจับเส้นเป็นวิธีเก่า คือเขียนข้อความการทำบุญสลากและชื่อผู้ศรัทธา ลงในแผ่นกระดาษแข็ง ใบตาล ใบลาน หรือวัตถุอื่นใดเท่ากับจำนวนของไทยทาน เป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับและเพื่อเป็นบุญกุศลต่อตนเอง โดยการนำไปกองรวมกันในโบสถ์หรือวิหารที่จัดไว้ แล้วให้พระเณรมาจับตามจำนวนที่กำหนด ส่วนสลากที่เหลือก็ถวายแก่พระพุทธ จากนั้นชาวบ้านจึงถวายของตามชื่อเส้นของตน หลังจากพระให้ศีลให้พรแล้ว จึงรับเส้นของตนไปเผา พร้อมทั้งตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย เป็นอันเสร็จพิธี
ส่วนวิธีจับเบอร์นั้น เป็นที่นิยมกันมากกว่าวิธีจับเส้น มีวิธีการคือ ทำเบอร์ของไทยทานเท่ากับจำนวนพระเณร แล้วมีวิธีจับเช่นเดียวกับการจับเส้น
ขันโตก เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารของชาวเหนือ ทำด้วยไม้สัก ทาด้วยหางสีแดง สูง 8-10 นิ้ว มีขาไม้สักกลึงเป็นรูปกลมตั้งบนวงล้อรับอีกอันหนึ่ง ขันโตกจะกว้างประมาณ 10-30 นิ้ว
สมัยโบราณคนพื้นเมืองนิยมใช้ขันโตกสำหรับใส่อาหาร รับประทานในครัวเรือน แต่ความนิยมใช้ค่อยเสื่อมลงเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น และคนหันไปนิยมของใช้จากต่างประเทศแทน ขันโตกจึงใช้เฉพาะเป็นธรรมเนียมในการต้อนรับแขกเมือง และบุคคลสำคัญเท่านั้น
|
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ มีวัดอยู่ประมาณ 441 วัด มีวัดที่สำคัญ ๆ ได้แก่ วัดเชียงมั่น วัดพระสิงห์ วัดโพธารามมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวง วัดกู่เต้า วัดสวนดอก วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุศรีจอมทอง วัดอุโมงค์เถรจันทร์ วัดช้างค้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละวัดเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยโบราณ และมีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง
วัดเชียงมั่น
เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างในสมัยพ่อขุนเม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1839 หลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว จึงได้ทรงยกพระตำหนักที่ประทับชื่อว่า "ตำหนักเชียงมั่น" ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่องค์หนึ่ง ชื่อว่า "พระเสตังคมณี" หรือชาวบ้านเรียกว่า "พระแก้วขาว" สร้างที่เมืองละโว้เมื่อ 700 กว่าปีมาแล้ว และพระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาไว้ที่หริภุญไชย เมื่อพ่อขุนเม็งรายตีเมืองลำพูนโดยใช้ธนูไฟยิงเข้าไปในเมือง เกิดไฟไหม้ แต่หอพระเสตังคมณีซึ่งเป็นหอไม้สักตั้งอยู่กลางปราสาทไม่เป็นอันตราย พระองค์จึงได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดเชียงมั่น และทรงนับถือพระเสตังคมณีมาก ไม่ว่าจะเสด็จที่ใดต้องอัญเชิญไปด้วยทุกแห่ง
นอกจากนี้ วัดนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาหลัก ปางปราบช้างนาฬาคิรี และมีพระเจดีย์ช้างล้อมสูงประมาณ 13 วา ที่ฐานเจดีย์มีรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบ เป็นบูชนียวัตถุที่มีอายุเกือบ 700 ปี อีกด้วย
สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 9 ของเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์
ในสมัยบ้านเมืองไม่ปกติสุข วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างไปชั่วระยะหนึ่ง และได้บูรณะขึ้นโดยเจ้านายในราชตระกูลเชียงใหม่ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอกมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้างไป แต่ได้บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระยากาวิละ
ในปี 2450 พระนางดารารัศมี พระสนมเอกใน ร.5 ซึ่งเป็นเจ้านายในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เห็นทำเลที่วัดสวนดอกกว้างขวาง จึงย้ายเอากู่ของเจ้านายในตระกูล ณ เชียงใหม่ มาไว้ที่นี่
พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่มหึมา ตื้อเป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง พระพุทธรูปนี้ พระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์เม็งราย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน หน้าตักกว้าง 8 ศอก เพื่อเป็นพระประธานในวัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมาก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอก
วัดนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาที่ชื่อว่า ดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์เม็งราย เมื่อปี พ.ศ. 1929 และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการะบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี ไปบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล เพื่อกำหนดที่ประดิษฐาน เมื่อพบที่บรรจุบนยอดดอยแล้ว จึงให้ขุดยอดดอยลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม
แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น เหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น
สมัยพระเมืองเกษเกล้า ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 12 ของราชวงศ์เม็งราย ในปี พ.ศ. 2081 ได้โปรดให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ ต่อมาเจ้าท้าวทรายคำราชโอรส ได้ให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ
ในปี .ศ. 2100 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ สำนักวัดอโศการาม เมืองลำพูน ได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะสะดวกขึ้น จนกระทั่งในสมัยครูบาศรีวิชัย จึงได้สร้างถนนขึ้นไป โดยถนนนี้มีความยาวถึง 11.53 กิโลเมตร
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนเนินเตี้ย ๆ สมัยของพระเจ้าติโลกราช ในปี พ.ศ. 1994 ชาวบ้านได้สร้างศาลาขึ้นบนดอยศรีจอมทอง และสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขึ้นสององค์ประดิษฐานไว้ในศาลานี้ ในภายหลังจึงได้มี คหบดี 2 คน ร่วมกันสร้างวิหารขึ้น
ต่อมาในสมัยกษัตริย์ลานนาไทยหลายพระองค์ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนกลายเป็นวัดใหญ่ และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในพระโกศทองคำ 5 ชั้น ซึ่งสามารถอัญเชิญออกมาสรงน้ำได้ จึงนับว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุองค์เดียวในประเทศไทยหรือในโลก ที่สามารถมองเห็นองค์พระธาตุจริง ๆ ได้
ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี (เดิมคือเวียงกุมกาม ในสมัยพระยาเม็งราย) เป็นวัดเก่าแก่สมัยพระยาเม็งราย มีวิหารและพระพุทธรูป 5 องค์ เป็นพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ พระพุทธรูปยืน 1 องค์ เมื่อกลับมาจากการยกกองทัพไปตีพม่าจนได้ชัยชนะแล้ว จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นในปี พ.ศ. 1833 มีฐานกว้าง 8 วา สูง 9 วา และสร้างซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ 2 ชั้น เมื่อพระเถระได้นำเอา พระบรมสารีริกธาตุมาจากลังกา พระยาเม็งรายจึงโปรดให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ และปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ไว้ด้วย
เนื่องจากเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนามาช้านาน จึงมีงานศิลปหัตถกรรมมากมาย ทั้งด้านงานศิลปและงานช่าง อีกทั้งมีช่างฝีมือจากที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มาตั้งรกรากอยู่บริเวณรอบกำแพงเมือง งานฝีมือด้านต่าง ๆ ของเชียงใหม่จึงรุ่งเรืองและอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้านายคุ้มหลวง เมื่อเจ้านายหมดอำนาจ งานช่างฝีมือก็อ่อนแอตามไปด้วย
ปัจจุบันงานด้านหัตถกรรมของเชียงใหม่ บางแห่งยังคงสร้างขึ้นตามแบบเดิมในอดีต ส่วนใหญ่แม้ยังใช้พื้นฐานของเทคนิค และวิธีการผลิตเก่า แต่ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งรูปแบบทางศิลปะ กระบวนการผลิต และการจัดการให้เข้ากับกลไกตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งงานด้านหัตถกรรมของเชียงใหม่ ที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมมีอยู่หลายชนิด เช่น เครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก ผ้าทอตีนจก ผ้าไหมสันกำแพง เครื่องปั้นดินเผา ร่ม และกระดาษสา เป็นต้น
สำหรับกลุ่มช่างเงินนั้น ได้มาตั้งรกรากอยู่ใกล้กับไทเขิน และตั้งชื่อหมู่บ้านของตนว่า "วัวลาย" หรือ "งัวลาย" ตามรัฐฉานที่ตนจากมา และการทำเครื่องเงินในระยะแรก ทำขึ้นเพื่อเป็นส่วยตามความต้องการของเจ้านาย ภายหลังที่เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นและมีการติดต่อค้าขายกับชาติอื่น เช่น พม่า และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เครื่องเงินจึงกลายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายกับสินค้าจำเป็นอื่น ๆ และสามัญชนเริ่มใช้เครื่องเงินได้ ด้วยเหตุที่เจ้านายเริ่มเปลี่ยนไปใช้เครื่องทองแทน
ในสมัยพระยากาวิละ ไทยเขินได้อพยพมาอยู่บริเวณใกล้กับวัดนันทาราม และบริเวณประตูเชียงใหม่ เดิมชาวไทเขินไม่เพียงแต่ทำเครื่องเขินเพื่อใช้ในครัวเรือน หากยังใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นที่ไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น เกลือ เครื่องปั้นดินเผา และยังใช้เป็นส่วยแก่เจ้านาย ทั้งเชียงใหม่และเจ้าเชียงตุง
เครื่องเขินเป็นภาชนะทำจากไม้ไผ่สาน เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ เคลือบด้วยน้ำรักสีดำ ถ้าต้องการสีแดง ทาเคลือบด้วยชาด ซึ่งทางเชียงใหม่เรียกว่า สีหาง หากเป็นของเจ้านายจะประดับตกแต่งด้วยสีทองและเขียนลวดลายสวยงาม ส่วนของชาวบ้านมักเป็นสีหาง ไม่มีลวดลาย
สินค้าแกะสลักมีหลายอย่าง ตั้งแต่ชิ้นเล็กอย่างเช่น ปากกา ดินสอที่ทำจากกิ่งไม้ ช้าง นก กบ ปลา และสัตว์ต่าง ๆ ดอกไม้ จนถึงไม้แกะสลักขนาดใหญ่ เช่น นางไหว้ นางรำ ช้าง ครกเก่าแกะสลัก โต๊ะ ตู้ เตียง และที่เป็นเอกลักษณ์ของไม้แกเสลักบ้านถวาย คือ พระยืนที่เลียนแบบของพม่า ครุฑซึ่งต้องใช้ฝีมือ
ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าพื้น ไม่มีลวดลาย หรืออาจเป็นลายง่าย ๆ เช่น ลายตาราง ส่วนการทอผ้าที่มีลวดลายสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นลายเฉพาะของกลุ่มคน เช่น ลายน้ำไหล ของไทลื้อ ซิ่นลัวะ ซิ่นยาง เป็นต้น ทำให้ผ้าทอของเชียงใหม่มีหลากหลาย จนยากที่จะกำหนดว่าผ้าแบบใด ลายอย่างไรเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จริงของเชียงใหม่ ปัจจุบันผ้าทอของเชียงใหม่ที่เป็นที่นิยมมีอยู่หลายแห่ง คือ ตีนจกแม่แจ่ม ผ้าทอบ้านไร่ไผ่งาม และผ้าไหมสันกำแพง เป็นต้น
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของล้านนาและเชียงใหม่ รุ่งเรืองมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 และผลิตโดยใช้วิธีการที่ไม่ซับซ้อน และใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น มีทั้งแบบไม่เคลือบและแบบเคลือบ สำหรับสินค้าเครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในอดีต ได้แก่ เครื่องถ้วยจากเตาสันกำแพง ที่มีลายสัญลักษณ์ คือ "ปลาคู่" คล้ายกับเครื่องถ้วยสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยจากเตา เวียงกาหลง และในสันป่าตองยังพบเศษเครื่องปั้นดินเผาแบบหริภุญไชย เป็นอันมาก
หม้อดินเผาที่ใช้ในครัวเรือนของชาวเชียงใหม่ ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด เช่น หม้อนึ่ง หม้อแจ่ง (เป็นหม้อทรงสูงใช้ต้มน้ำ) หม้อต่อม (หม้อใบเล็กใช้ต้มหรือแกง) หม้อต้มยา หม้อข้าวพม่า น้ำต้น (คนโท) โดยมีแหล่งการผลิตอยู่หลายแห่ง เช่น บ้านกวน หารแก้ว บ้านเหมืองกุง และเครื่องถ้วยเตาขุนเส เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น